ชนิดและวิธีการขจัดรอยเปื้อน
(Types of Stains and their Removals)
ความสกปรก (Age Stains)รอยเปื้อนเหล่านี้บางครั้งเกิดจากผ้าเก่าที่เก็บไว้นานๆ มักจะมีสีตั้งแต่น้ำตาลอ่อนนถึงน้ำตาลแก่ ถ้าผ้าหรือวัสดุเหล่านี้สามารถซักได้ และสีของรอยเปื้อนไม่เข้มจนเกินไป โดยทั่วไปสามารถขจัดออกได้ในชบวนการซัก (Launderring) แต่ถ้าเปื้อนมากๆ ควรใช้สารฟอกขาวที่เป็นสารออกซิไดซิ่ง เช่น สารละลายฟอกขาวคลอรีน หรือโปตัสเซียมเปอร์มังกาเนต(KMnO4) โดยใช้สารฟอกขาวที่เป็นสารออกซิไดซิ่งกับผ้าขาวที่ทำจากเส้นใยฝ้าย ลินิน หรือเส้นใยสังเคราะห์ ส่วนโซเดียมไฮโดรซัลไฟด์ (Na2 S2 O4) นิยมใช้กับขนสัตว์สีขาวและไหมสีขาว
คราบโปรตีน (Albumins Stains)รอยเปื้อนจากคราบไปรตีน รวมทั้งไข่ น้ำสลัดข้น (Mayonnaise) เลือด น้ำหนอง (Discharges) และสารต่างๆ ที่คล้ายคลึงกัน ให้นำผ้าที่มีรอยเปื้อนเหล่านี้มาซักด้วยน้ำสบู่และด่างที่อุณหภูมิต่ำ ซึ่งจะทำให้สามารถขจัดคราบออกไปได้บ้าง แต่ไม่ไช้น้ำร้อนในการขจัดรอยเปื้อน เว้นเสียแต่จะได้ปรับค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ให้อยู่ในช่วง 11.2-11.4 เพราะถ้าความเป็นกรดด่างมีค่าอยู่ในช่วงนี้ การใช้ความร้อนจะไม่ทำให้รอยเปื้อนคงตัวหรือติดแน่น คราบไปรตีนส่วนมากจะถูกขจัดในขบวนการซักล้างแต่มีคราบโปรตีนบางชนิดที่มีน้ำมันหรือขี้ผึ้ง (Grease) ผสมอยู่ ถ้าน้ำมันหรือขี้ผึ้งถูกขจัดออกไม่หมดให้ใช้สารพวกตัวทำละลายอินทรีย์ เช่น น้ำยาซักแห้ง (Drycleaning Solvent) หรือตัวทำละลายที่ระเหยง่าย (Volatile Dry Solvent) ในกรณีที่ไม่สามารถขจัดรอยเปื้อนออกได้หมด ให้ใช้สารพวกตัวช่วยย่อย (Digestor) ซึ่งเป็นพวกเอ็นไซม์ แต่จะต้องแช่ผ้าบริเวณที่เปื้อนในสารนี้สักครู่แล้วจึงซักล้าง เอ็นไซม์จะซ่วยทำลายคราบโปรตีน หลังจากเกิดปฏิกิริยาทางเคมีแล้ว รอยเปื้อนถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของสารที่ละลายน้ำและสามารถขจัดออกจากผ้าได้
คราบน้ำมันดิบหรือยางมะตอย (Asphalt Stains)ยางมะตอยหรือน้ำมันดิน น้ำมันยาง (Mineral Pitch) เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากการกลั่นน้ำมันปีโตรเลียม โดยทั่วไปจะประกอบด้วยสารประกอบซัลเฟอร์ สารประกอบไนโตรเจน และสารไฮโดรคาร์บอน ยางมะตอยละลายได้ในน้ำยาซักแห้ง หรือตัวทำละลายที่ระเหยง่าย หรืออะซีโตน แต่ไม่ละลายในแอลกอฮอล์หรือน้ำข้อควรระวัง อย่าใช้อะซีโตนกับเส้นใยอะซิเตค หรือไตรอะซิเตค
คราบเบียร์ (Beer Stains)รอยเปื้อนของเบียร์จะมีสีน้ำตาลอ่อนๆ มักจะขจัดออกได้โดยการซัก ถ้าไม่ได้ทิ้งคราบนั้นไว้นานเกินไป ถ้ามีคราบเหลืออยู่จะใช้วิธีการฟอกขาวด้วยโซเดียมไฮโปคลอไรด์ สำหรับเส้นใยพืชและใยสังเคราะห์ และใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์หรือโซเดียมเปอร์บอเรต (NaBO3) สำหรับไหม ขนสัตว์ และขนแกะ
คราบเลือด (Blood Stains)คราบเลือดจะทำให้เกิดสีบนผ้า เนื่องมาจากฮีโมโกลบินซึ่งเป็นสารที่มีสีแดงและมีเหล็กเป็นองค์ประกอบ รอยเปื้อนนี้เป็นโปรตีนเช่นเดียวกับคราบโปรตีน และจะเกิดจากการรวมตัวหรือเกาะแน่นด้วยความร้อน ซึ่งจากเหตุผลที่กล่าวนี้ จะพบว่าในการซักผ้าที่ใช้ในการผ่าตัดหรือผ้ากันเปื้อนของคนขำแหละเนื้อ จะต้องมีการซักหลายๆ ครั้ง แต่ถ้าใช้น้ำสบู่ที่อุณหภูมิสูงตั้งแต่ต้น จะต้องปรับค่าความเป็นกรดด่างให้อยู่ในช่วง 11.2-11.4 เพื่อป้องกันการเกาะตัวแน่นของคราบเลือด โดยปกติแล้วรอยเปื้อนเลือดจะถูกขจัดออกในขบวนการซัก ในบางกรณีอาจต้องใช้สารฟอกขาวคลอรีนเพื่อขจัดคราบของฮีโมโกลบิน หรืออาจจะต้องใช้กรดออกซาลิค หรือน้ำยาขจัดสนิม ช่วยขจัดคราบสีน้ำตาลซึ่งเกิดจากสีของเหล็กในเลือด แต่ไม่ควรใช้สารฟอกขาวคลอรีนขจัดคราบเลือดบนไหมหรือขนสัตว์ แต่ให้ใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์แทน
คราบเนย (Butter or Margarine Stains)ส่วนใหญ่เป็นรอยเปื้อนน้ำมัน นอกจากนี้ก็มีเกลือ เคซีน (โปรตีนในน้ำนม) อยู่บ้างเล็กน้อยนอกเหนือไปจากพวกไขมัน เนย หรือเนยเทียม จะซักออกได้เกือบหมด แต่อาจมีบางส่วนหลงเหลืออยู่ให้ใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ในการขจัดต่อไป
คราบเปื้อนจากกระดาษคาร์บอน (Carbon Paper Stains)การขจัดรอยเปื้อนนี้ทำได้โดยใช้น้ำยาลบหมึกพิมพ์ (Oily Type Pain Remover) และตัวทำละลายที่ระเหยง่าย ให้ใช้กระดาษซักหรือผ้าวางรองข้างใต้ แล้วจึงหยดน้ำยาลงไป จากนั้นให้ใช้ตัวทำละลายที่ระเหยง่าย หรือน้ำยาซักแห้งอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วล้างให้สะอาดอีกครั้ง ถ้ารอยเปื้อนมีขนาดใหญ่และติดทน ให้ใช้น้ำยาลบหมึกพิมพ์นี้หยดลงบนบริเวณรอยเปื้อน แล้วล้างด้วยตัวทำละลายที่ระเหยง่าย หรือน้ำยาซักแห้งก่อน แล้วจึงนำไปซักล้างให้สะอาด ถ้ายังมีรอยเปื้อนหลงเหลืออยู่ให้ขจัดออกด้วยสารฟอกขาวพวกสารออกซิไดซิ่ง
คราบซอสมะเขือเทศ (Ketchup Stains)คราบเหล่านี้ถูกขจัดในกระบวนการซักล้าง แต่จะได้ผลดีถ้าใช้สารซึ่งใช้ในการขจัดแทนนิน(Commercial Tannin Remover) โดยใช้สารละลายนี้ถูหรือแปรงลงบนรอยเปื้อน แล้วล้างให้สะอาดรอยเปื้อนที่ติดทนอาจจะต้องทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง แต่ถ้ายังขจัดไม่หมดให้ใช้สารฟอกขาวที่เป็นสารออกซิไดซิ่ง
คราบกาแฟ โกโก้ และช็อคโกแลต (Coffee, Cocoa and Chocolate Stains)คราบกาแฟถูกขจัดออกหมดในกระบวนการซักล้าง แต่ถ้าคราบนั้นถูกทำให้ติดแน่นด้วยความร้อน อาจจะต้องใช้สารออกซิไดซื่งในการฝอกขาว เพื่อขจัดรอยเปื้อนที่หลงเหลืออยู่คราบโกโก้ และช็อคโกแลต ใช้วิธีการคล้ายกันการขจัดรอยเปื้อนจากลูกอม(Candy) โดยใช้สารออกซิไดซิ่งหรือสารรีดิวซิ่ง
คราบครีมและไอศครีม (Cream and Ice cream Stains)คราบนมและครีมซึ่งเป็นโปรตีน จะมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับคราบโปรตีน (Albuminous Stains)การขจัดขั้นแรกควรทำที่อุณหภูมิต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียส แต่ถ้าใช้อุณหภูมิสูง ต้องควบคุมเป็นกรดด่างให้อยู่ในช่วง 11.2-11.4 เพราะที่อุณหภูมิต่ำหรือทึ่ความเป็นกรดด่างสูง จะเป็นตัวป้องกันการติดแน่นของคราบโปรตีนบนผ้า ในกรณีเดียวกัน ถ้าใช้วิธีข้างต้นไม่ได้ผล ให้ใช้สารช่วยย่อยในการขจัดรอยเปื้อนนั้น
คราบแลคเกอร์ (Duco-Lacquer Stains)ดูโค (Duco) เป็นสารละลายของไนโตรเซลลูโลส บางครั้งจะมีสารพวกเม็ดสี (Color Pigment)อยู่ด้วย เมื่อตัวทำละลายหรือทินเนอร์ระเหยไป จะเหลือแต่แผ่นฟิล์มไนโตรเซลลูโลสและเม็ดสี ตัวทำละลายที่ใช้ในการขจัดคราบแลคเกอร์ ได้แก่ อะซีโตน และเอธิลอะซิเตค เป็นต้น ถ้ารอยเปื้อนนั้นมีขนาดใหญ่และผ้ามีสีขาว ให้ต้มกับโซเดียมไฮดรอกไซด์แทนการใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ ในกรณีที่ยังมีคราบเม็ดสีติดอยู่ ให้ใช้สารออกซิไดซิ่งหรือรีดิวซิ่งฟอกขาว โดยจะต้องเลือกสารฟอกขาวตัวที่ไม่มีผลต่อสีย้อมบนผ้านั้น และต้องเป็นสารฟอกขาวที่มีประสิทธิภาพดีด้วย ข้อควรระวัง อย่าใช้อะซีโตนที่มีส่วนผสมของเส้นใยอะซิเตดหรือไตรอะซิเตด
คราบสี (Dye and Color Statins)รอยเปื้อนจากสี เป็นรอยเปื้อนที่ขจัดออกจากผ้าได้ยากที่สุด คราบสีบางชนิดอาจขจัดได้โดยการซักหลาย ๆ ครั้ง บางชนิดก็ต้องใช้สารฟอกขาว แต่ก็มีสีบางชนิดที่เมื่อถูกขจัดออกจากผ้าชนิดหนึ่งก็อาจจะไปเปื้อนติดผ้าอีกชนิดหนึ่ง ทำให้การขจัดออกทำได้ยากขึ้นการขจัดรอยเปื้อนของสีบนผ้าหรือวัสดุที่มีสี จะต้องคำนึงถึงความคงทนของสีย้อมเดิม(Fastness of Original Color) โดยอาจจะทดสอบสีในบริเวณตะเข็บด้านในด้วย สารที่คิดว่าเหมาะสม ถ้าสีมีความคงทนเพียงพอก็สามารถขจัดรอยเปื้อนนั้นได้ตามลำดับ ดังนี้ ใช้โซเดียมไฮโดรซัลไฟด์ การฟอกขาวด้วยคลอรีน โปตัสเซียมไดโครเมต แล้วตามด้วยสารละลายที่อุ่นของโซเดียมไฮโดรซัลไฟด์ ขั้นสุดท้ายให้ใช้สารขจัดสนิมที่เหมาะสม
คราบเปื้อนจากอาหารประเภทไข่ (Eggs Stains)คราบเปื้อนจากอาหารประเภทไข่เป็นพวกโปรตีน ปกติจะขจัดได้ในกระบวนการซัก (ดูวิธีการขจัดรอยเปื้อน จากวิธีการขจัดคราบโปรตีนดังกล่าวข้างต้น)
คราบขี้ผึ้ง (Floor Wax Stains)ขี้ผึ้งขัดพื้นมักประกอบด้วย ขี้ผึ้งคาร์เนาว์บา (Carnauba Wax) ถ้ารอยเปื้อนมีขนาดเล็กให้ใช้น้ำยาซักแห้งหรือตัวทำละลายที่ระเหยง่าย ละลายคราบที่ติดอยู่ออกไป เมื่อนำผ้าไปผ่านขบวนการซักล้างโดยใช้ความร้อนด้วย จะสามารถขจัดคราบขี้ผึ้งเหล่านี้ออกไปได้
คราบผลไม้ (Fruit Stains)คราบจากน้ำผลไม้ โดยทั่วไปจะถูกขจัดออกในการซัก ผลไม้ที่ใช้ในการทำอาหารและน้ำเบอร์รี่ (Berry Juices) จะถูกขจัดได้ง่ายกว่าน้ำผลไม้ดิบ (Raw Juices) ถ้าไม่สามารถขจัดออกได้ในกระบวนการซัก ให้ใช้สารออกซิไดซิ่ง หรือสารรีดิวซิ่ง เช่น โซเดียมไฮโดรซัลไฟด์ ซึ่งเป็นสารรีดิวซิ่ง ในการฟอกขาว และใช้ได้กับผ้าทุกชนิด ส่วนไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ซึ่งเป็นสารออกซิไดซิ่งใข้ในการฟอกขาวสำหรับผ้าไหม และขนสัตว์ สารฟอกขาวคลอรีนใช้ได้กับเส้นใยชนิดอื่นๆ ข้อควรระวัง ควรทดสอบสารเคมีที่จะใช้ว่ามีผลต่อสีบนผ้าหรือไม่
คราบไอโอดีน (Iodine Stains)ถ้าหยดไอโอดีนลงบนผ้าที่ไม่มีแป้ง จะเห็นเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาลเกิดขึ้น แต่ถ้ามีแป้งอยู่จะเกิดเป็นสีฟ้า รอยเปื้อนเหล่านี้ปกติไม่สามารถขจัดได้ในกระบวนการซัก แต่ขจัดได้โดยใช้สารละลายโซเดียมไธโอซัลเฟต ความเข้มข้น 10% และอุ่น แล้วล้างให้สะอาด
คราบสนิมเหล็ก (Iron Stains)คราบเหล็กหรือคราบสนิมเกิดจากไฮเดรทเตตเฟอร์รัส (Hydrated Ferrous) หรือเฟอร์ริคออกไซด์กับเฟอร์ริคคาร์บอเนตในอัตราส่วนต่าง ๆ กัน คราบเหล่านี้ถูกขจัดออกได้โดยใช้สารละลายกรดออกซาลิคเจือจางที่อุ่น หรือสารอื่นที่เป็นสารขจัดสนิม ควรล้างอย่างระมัดระวัง การซักล้างที่ค่าความเป็นกรดด่างเท่ากับ 5 จะไม่สามารถขจัดสนิมได้ จำเป็นต้องใช้ภาวะการซักล้างที่รุนแรงขั้น โดยปรับให้ค่าความเป็รกรดด่างต่ำกว่า 5 ก่อน จึงทำการขจัด และเมื่อขจัดรอยเปื้อนเสร็จแล้วให้ปรับค่าความเป็นกรดด่างกลับไปที่ 5 แล้วซักล้างให้สะอาดต่อไป ข้อควรระวัง อย่าใช้กรดไฮโดรฟลูออริคกับเส้นใยไหมที่ปรับน้ำหนักแล้ว (Weighted Silk) หรือเส้นใยโลหะอื่นๆ เพราะกรดนี้สามารถละลายโลหะและขจัดสีในบริเวณที่ถูกประจำ
คราบลิปสติคและแป้งรองพื้น (Lipstick and Make up Stains)วัสดุเหล่านี้จะเป็นสารพวกสีในน้ำมัน (Dyestuffin Oil Base) หากซักล้างโดยทั่วไปไม่สามารถขจัดคราบเหล่านี้ได้ ควรล้างด้วยตัวทำละลายที่ระเหยง่ายหรือน้ำยาซักแห้ง หลังจากผ่านขบวนการขจัดและซักแล้ว หากยังมีคราบสีเหลืออยู่ให้ใช้สารฟอกขาวหรือสารลอกสี ซึ่งมักจะเริ่มด้วยการใช้สารละลายเจือจางของโปตัสเซียมไดโครเมต (K2 Cr O7) ตามด้วยสารละลายโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ที่อุ่นและสารขจัดสนิม(Proprietary Rust Remover)
คราบน้ำสลัดข้น(Mayonnaise and Salad Dressing)คราบเหล่านี้ขจัดออกโดยการซัก ในเครื่องปรุงสลัดจะมีส่วนประกอบของโปรตีน ซึ่งสามารถขจัดออกโดยการซักในน้ำเย็น หรือในน้ำร้อน ที่ค่าความเป็นกรดด่างเท่ากับ 11.2-11.4 (เพื่อป้องกันการเกาะติดแน่นของรอยเปื้อน)หรืออาจใช้น้ำยาลบหมึกพิมพ์แล้วตามด้วยน้ำยาซักแห้ง น้ำสลัดและเครื่องปรุงสลัดยังมีส่วนประกอบของน้ำมันอยู่ด้วย จึงใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ในการขจัดได้ดีเช่นกัน
คราบมัสตาด (Mustard Stains)สีเหลืองของมัสตาดคือ ขมิ้น(Tumerie) ซึ่งเป็นสารสีเหลืองตามธรรมชาติ การขจัดคราบ ควรล้างมัสตาดส่วนเกินออกไปก่อนแล้วจึงนำไปซัก ถ้ายังมีคราบเหลืออยู่ใช้สารขจัดแทนนินซักให้สะอาดอีกครั้ง ถ้ายังออกไม่หมดให้ใช้สารฟอกขาวคลอรีน แต่ถ้าผ้านั้นเป็นไหมหรือขนสัตว์ให้ใช้สารละลายโปตัสเซียมไดโครเมต แล้วตามด้วยสารละลายโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ที่อุ่น และใช้สารขจัดสนิมเป็นขั้นสุดท้ายก่อนนำไปซักล้างให้สะอาด
คราบที่เกิดจากสีทาบ้าน น้ำมันต่างๆ ยางใม้หรือยางพาราดิบ (Paint, Oil Base or Latex Stains)สีทาบ้านเป็นของเหลวที่ใช้ทาลงบนพื้นผิว เพื่อป้องกันและ/หรือเปลี่ยนสีพื้นผิว โดยทั่วไปประกอบด้วยผงสี (Pigment) ผสมกับน้ำมันแห้งเร็ว (Drying Oils)เรซิน ยาง หรือกาว (Plastic or Latex) และตัวทำละลายที่ระเหยง่ายหรือน้ำ ส่วนประกอบของสีมีผลต่อความยากง่ายในการขจัดออก และระยะเวลาที่เปื้อนก็มีผลต่อการขจัดออกเช่นกัน สีบางอย่างถ้าเปื้อนอยู่นานหลายชั่วโมงหรือ 1 วัน ก็จะขจัดไม่ได้ วิธีการขจัดที่ดีที่สุดคือ แช่ผ้าที่เปื้อนนั้นในน้ำยาลอกสีประมาณ 15-30 นาที เพื่อให้แผ่นฟิล์มของสีอ่อนตัวลง ต่อจากนั้นใช้ตัวทำละลายที่ระเหยง่ายกับน้ำยาลอกสีในการล้าง แล้วล้างด้วยน้ำแรงๆ เพื่อขจัดรอยเปื้อนที่อ่อนตัวแล้ว ในทางปฏิบัติ หลังจากทำให้รอยเปื้อนอ่อนตัวลงแล้ว ควรใช้แปรงขัดบริเวณรอยเปื้อน จะช่วยขจัดคราบได้จำนวนหนึ่ง ให้ทำเช่นนี้หลายๆ ครั้ง เพื่อขจัดคราบออกให้มากที่สุด วิธีที่ใช้ในการขจัดคราบดังกล่าวข้างต้น เรียกว่า วิธีขจัดแบบแห้ง (dry side) หลังจากขจัดคราบแล้วให้ใช้วิธีแบบเปียกบ้าง (Wet Side) โดยใช้ผงซักฟอก (Synthetic Detergent) และแอมโมเนีย ถ้ามีกระบอกฉีด (Steam Gun) ให้วางผ้ารองใต้รอยเปื้อนแล้วฉีดด้วยผงซักฟอกและแอมโมเนีย ถ้าไม่มีกระบอกฉีดให้ใช้วิธีการซักล้าง และทำหลายๆ ครั้ง ถ้าทำทั้ง 2 วิธีแล้ว ยังมีคราบเหลืออยุ่ ให้ต้มในสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ (ถ้าผ้าหรือสีสามารถทนต่อปฏิกิริยาของด่าง) โดยเตรียมสารละลายด่างกับผงซักฟอก (Built Detergent)1/4 ปอนด์ต่อน้ำ 10 แกลลอน อาจต้องใช้สารฟอกขาวด้วย
คราบกาวยาง (Rubber Cement Stains)โดยทั่วๆ ไป รอยเปื้อนเหล่านี้สามารถขจัดออกได้โดยโทลูอีน หรือ เบนซีน แต่สารทั้งสองตัวนี้ติดไฟง่าย และเป็นอันตรายต่อร่างกาย ในขณะใช้สารนี้ไม่ควรอยุ่ใกล้ไฟ และไม่ควรให้สารนี้ถูกต้องร่างกายหรือสูดเอาไอของสารนี้เข้าไปมากนัก
คราบน้ำมันสลัด (Salad Oil Stains)สามารถขจัดออกได้โดยการซัก ส่วนที่เหลือให้ใช้น้ำยาซักแห้งหรือตัวทำละลายที่ระเหยง่าย ถ้ามีสีเหลืองติดอยู่ ให้ใช้ผงฟอกขาวคลอรีน แล้วล้างให้สะอาด
รอยเกรียม (Scorch Stains)คราบเหล่านี้มักมีสีน้ำตาล (Tan or Brown) ขึ้นอยู่กับความรุนแรง ถ้ารอยนั้นรุนแรงมากเส้นใยอาจถูกทำลาย รอยเกรียมที่เกิดขึ้นน้อยๆ อาจขจัดออกโดยการซัก ถ้ารอยนั้นรุนแรงไม่มากนัก อาจฟอกขาวด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ แต่ถ้ารุนแรงจนถึงกับทำลายเส้นใยก็ไม่สามารถขจัดได้
คราบน้ำเชื่อม (Syrup Stains)ในการซัก น้ำเชื่อมหรือน้ำตาลก็สามารถละลายหลุดออกไปได้ แต่ถ้ามีน้ำไม้หรือสีของอาหารอยู่ด้วย อาจเลือกใช้สารออกซิไดซิ่งที่เหมาะสม เช่น สารฟอกขาวคลอรีน ในกรณีที่ผ้านั้นเป็นผ้าฝ้ายหรือผ้าลินิน แต่ถ้าเป็นผ้าไหมหรือขนสัตว์ ก็เลือกใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หรืออาจใช้สารละลายโปตัสเซียมไดโครเมต แล้วตามด้วยโซเดียมไฮโดรซัลไฟด์ และสารขจัดสนิม ซึ่งใช้ได้กับทั้งผ้าฝ้าย ผ้าลินิน ไหม หรือขนสัตว์
คราบแทนนิน (Tannin Stains)แทนนินเป็นสารตัวหนึ่งอยู่ในชาและกาแฟ และรอยเปื้อนนี้เป็นรอยเปื้อนที่ขจัดออกได้ยากที่สุด ในกรณีที่เปื้อนใหม่ก็มักจะล้างออกหมด ถ้าล้างไม่หมดและยังไม่เกาะติดแน่นอยู่บนผ้า ก็อาจใช้สารขจัดแทนนิน แต่ถ้ายังมีรอยเหลืออยู่ อาจใช้สารรีดิวซิ่ง เช่น โซเดียมไฮโดรซัลไฟด์ในการฟอกขาวก็ได้
คราบยาสูบ (Tobacco Stains)รอยเปื้อนนี้ประกอบด้วยสารสีน้ำตาลตามธรรมชาติ ในบางครั้งอาจจะเติมกากน้ำตาล (Molasses) ในส่วนที่ใช้เคี้ยว (Chewing Tobacco) ถ้าการซักไม่สามารถขจัดรอยเปื้อนได้ ให้ใช้สารีดิวซิ่ง เช่น ผงฟอกขาวคลอรีน คราบยาสูบส่วนมากละลายได้ในเมธิลแอลกอฮอล์ หรือเอธิลแอลกอฮอล์ฉะนั้นอาจใช้สารดังกล่าวนี้ก่อน แล้วจึงแช่ในสารออกซิไดซิ่ง